นาฬิกาบางกอก - NaligaBangkok

บทความ

จุดกำเนิด Time Zone

19-09-2552 03:24:00น.

       คำถามตกค้างจากแฟนเก่าแก่ของคอลัมน์ ซึ่งสงสัยว่าทำไมการกำหนดเวลามาตรฐานสากล จึงกำหนดให้เริ่มจาก 0 ในเมืองกรีนิช รวมถึงอยากให้ "ถามตอบรอบโลก" อธิบายการแบ่งเวลามาตรฐานสากลของโลกด้วย
       
       แนวคิดกำหนดเวลามาตรฐานประจำถิ่นเริ่มมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เพื่อขจัดความสับสนเนื่องจากการจับเวลาตามแสงอาทิตย์ การกำหนดเวลามาตรฐานท้องถิ่นจึงจำเป็นมากขึ้นเมื่อมีการเดินรถไฟขึ้น ในปี 1840 ได้มีการใช้เวลามาตรฐานครั้งแรกในอังกฤษ โดยทั้งประเทศใช้เวลามาตรฐานที่เมืองกรีนีช ต่อมา เซอร์ แซนฟอร์ด เฟรมมิง นักวางแผน และวิศวกรรถไฟชาวแคนาดา ได้เป็นผู้ริเริ่มความคิดที่มีการใช้เวลามาตรฐานไปทั่วโลก
       
       การใช้เวลามาตรฐาน (Standard Time) ของแต่ละประเทศ เทียบกับเวลามาตรฐานโลก (Universal Time Co-ordinated หรือ UTC) นั้นใช้กฎเกณฑ์พื้นฐานที่ได้จากการประชุมนานาชาติ International Prime Meridian Conference ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อ 1 พฤศจิกายน 1884 ตามคำเรียกร้องของประธานาธิบดีเชสเตอร์ เอ. อาเธอร์ แห่งสหรัฐฯ มี 25 ประเทศเข้าร่วมประชุม
       
       ที่ประชุมมีข้อตกลงให้แบ่งโลกตามแนวเส้นแวง (ลองจิจูด) ออกเป็น 24 โซนเท่าๆ กัน แต่ละโซนมีค่า 15 องศา ทั้งในทางทิศตะวันตกและตะวันออก และมีค่าเท่ากับ 1 ชั่วโมงห่างจากโซนที่ติดกัน สำหรับเส้น 0 องศา เรียกว่าเส้นเมริเดียนหลัก (Prime Meridian) กำหนดอยู่ที่หอสังเกตการณ์ด้านดาราศาสตร์ของอังกฤษ ในเขตกรีนิช ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงลอนดอน และมีเส้นแบ่งวัน (International Date Line) อยู่ที่ 180 องศา
       
       สาเหตุที่เลือกเอากรีนิชนั้น ก็สืบเนื่องมาจากสมัยนั้น นักเดินเรือและระวางบรรทุกส่วนใหญ่กำหนดให้กรีนิชเป็นเส้นเมอริเดียนหลักบนแผนที่เดินทางของพวกเขาอยู่แล้ว
       
       ประเทศต่างๆ ได้รับเอาแนวคิดนี้ โดยใช้เส้นแวงที่แบ่งประเทศออกเป็นสองส่วนเป็นตัวกำหนดเวลาว่า เวลามาตรฐานประจำถิ่น เร็วกว่าหรือช้ากว่าเวลามาตรฐานโลกที่เมืองกรีนีชเท่าไร โดยใช้เครื่องหมาย บวก (+) หรือ ลบ (-) เทียบจากเวลาสากลนับจากเมืองกรีนิชนั่นเอง (GMT - Greenwich Mean Time)
       
       อย่างไรตาม เนื่องจากการกำหนดเวลามาตรฐานของแต่ละประเทศนั้นเป็นสิทธิของแต่ประเทศ หลายประเทศมีการเปลี่ยนแปลงเวลามาแล้ว เช่น ประเทศเนปาล ที่เปลี่ยนจาก UTC+5.40 มาเป็น UTC+ 5.45 ล่าสุด จอร์แดนก็เปลี่ยนเวลามาตรฐานของจาก UTC+2 ชั่วโมงมาเป็น UTC+3 ชั่วโมง ในปี 1999 ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงส่วนมากจะมีสาเหตุด้านการพาณิชย์เป็นส่วนใหญ่
       
       สำหรับประเทศไทยกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ เป็นผู้ควบคุมเวลามาตรฐานของประเทศ ไทย และการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเวลาให้เที่ยงตรงในแต่ละปี ก็จะประสานงานกับสถาบันนานาชาติเกี่ยวกับน้ำหนักและการวัดในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ปัจจุบัน ประเทศไทยได้กำหนดเวลามาตรฐานของประเทศเป็น UTC + 7 คือเร็วกว่าเวลามาตรฐานโลก 7 ชั่วโมง
       
       นอกจากนี้ ประเทศเมืองหนาวทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ยังมีการปรับเวลาในฤดูร้อนและฤดูหนาวด้วย เช่น พอย่างเข้าสู่ฤดูร้อนก็จะปรับเวลาให้เร็วขึ้นอีก 1 ชั่วโมง หรือที่เรียกว่า Daylight Saving Time และพอเข้าสู่ฤดูหนาวก็จะมีการปรับกลับมาเหมือนเดิม เพื่อใช้ประโยชน์จากแสงของดวงอาทิตย์ให้มากที่สุด........ BKWC

 

 (ขอบคุณที่มาของบทความ คอลัมน์ ถามตอบรอบโลก บนเว็บไซต์ : http://www.manager.co.th/around/ViewNews.aspx?NewsID=9480000107655)